วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

ดอกโศกบานในสวน

เห็นดอกโศกตกดอกออกระดะ                                      
  โศกปะทะสองซ้ำต้องทำไฉน                                      
 อันโศกต้นปนเข้ากับโศกใจ                                          
  ทำไฉนโศกเราจักเบาบาง                                            
     ขึ้นต้นด้วยบทกลอนแบบนี้ อย่าเข้าใจว่าอยู่ในอารมณ์โศกเศร้าละ  วันนี้เดินอยู่ในสวนที่บ้าน เห็นต้นโศกกำลังออกดอกสวยงามมาก ก็เลยคิดถึงกลอนบทนี้ เคยชอบมาก ชอบมานาน นานมาก ตั้งแต่ยังสวย เอ้อ--ไม่ใช่ ตั้งแต่ยังสาวโน่นแล้ว พอมีบ้านของตัวเองก็เลยปลูกต้นโศกไว้หลายต้น มีหลายชนิดด้วยกัน ต้นที่มีดอกสวยที่สุดคือโศกระย้าจะเป็นช่อห้อยยาวเป็นพวงมีสีส้มสดอมแดง  ส่วนต้นที่ชอบมากคือโศกเขาหรือโศกเข็ม ที่มีชื่ออย่างนี้เพราะดอกของมันเหมือนกับดอกเข็มช่อแน่นๆและตามธรรมชาติมัน จะอยู่บนเขา เคยเห็นครั้งแรกที่จันทบุรี ตอนนั้นไปน้ำตกกระทิง (คงเดาถูกนะว่าไปกับใคร) พากันขึ้นเขาเพื่อไปดูต้นน้ำ เห็นโศกต้นนี้ขึ้นอยู่เต็มไปหมดและกำลังมีดอกพอดี สวยงามมากเลย ตอนหลังพอได้ต้นมาปลูกที่บ้าน ดีใจมากเลย ส่วนโศกต้นอื่นๆก็มีโศกสปัน โศกบัว โศกเหลือง โศกขาว โศกน้ำ ส่วนมากจะเริ่มออกดอกตั้งแต่ปลายมกราไปจนถึงมีนา วันนี้ตั้งใจจะเก็บรูปดอกโศกในสวนมาให้ดู ก็สายไปนิดนึง เพราะบางต้นมันร่วงโรยไปแล้ว เสียดายจัง ท่านพุทธทาสถึงบอกไว้ ชีวิตไม่ใช่สิ่งที่รอคอย ต้องที่นี่ ตรงนี้และเดี๋ยวนี้ (สาธุ)  
       บางท่านบอกว่าต้นโศกไม่ควรนำมาปลูกไว้ในบ้าน จะทำให้ชีวิตพบแต่ความโศกเศร้า ก็เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล สำหรับเราเมื่อถึงคราวที่มันออกดอกก็แสนจะสุขใจ บางครั้งอยู่ใต้ต้นโศกยังเคลิ้มเหมือนวาสิฏฐีกำลังรอกามนิตอยู่แน่ะ 
โศกระย้า
โศกเข็ม
โศกสปัน
โศกน้ำ
โศกเหลือง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น